สังคมนิยมตัวเลข

ช่วงหลายสัปดาห์มานี้มีเรื่องให้หงุดหงิดใหญ่ๆ อยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก

ประเด็นดราม่าใน Twitter กับในพันทิป เรื่องเงินเดือนผู้ชายที่จะมาแต่งงานด้วย ว่าควรจะมีเงินเดือนอย่างน้อย 50,000 บาทจึงจะสามารถดูแลฝ่ายหญิงได้ จากจุดเริ่มต้นนี้เองทำให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมากเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะเปลี่ยนไปคุยกันในประเด็นอื่นต่อ

เรื่องที่สอง

เนื่องจากตัวเองเป็นนักศึกษาภาคค่ำตกงาน เลยพยายามหางานทำไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ค้นพบว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการหางานคือ

เกรดเฉลี่ยสะสมหรือ G.P.A

งานที่น่าสนใจมักจะ require G.P.A ในระดับการศึกษาที่จบมาที่ 3.0 ทำให้คนที่เรียนหนังสือจบมาแบบลุ่มๆ ดอนๆ แบบเราจึงได้แต่มองเพราะคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ผ่าน

แม้ความหงุดหงิดทั้งสองเรื่องจะต่างกันในแง่ที่ว่า เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ไม่กระทบกับตัวเองตรงๆ เพราะไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย เนื่องจากเกิดและเติบโตมาจากพื้นฐานครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต้องช่วยกันทำงาน เลยไม่เห็นว่าเงินเดือนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสาระสำคัญในการแต่งงานเท่ากับความสามารถในการหาเงินของคนทั้งคู่ ส่วนเรื่องหลังเป็นเรื่องที่กระทบกับตัวเองโดยตรงเพราะมันทำให้ตัวเองรู้สึกเหมือนชีวิตกำลังติดกับอะไรบางอย่าง ที่ไม่สามารถปลดล็อคได้

แต่อย่างไรก็ดีทั้งสองเรื่องก็มีจุดร่วมที่ชวนหงุดหงิดไม่ต่างกัน

คือมันเป็นตัวสะท้อนสังคมว่า ในโลกของชนชั้นกลางกทม. แท้จริงแล้วเป็น “สังคมนิยมตัวเลข”

……………………………

สังคมนิยมตัวเลข คือสังคมที่ประเมินค่าคนอื่นจากตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกรดเฉลี่ยที่เรียนจบมา จำนวนเงินเดือนที่ได้รับ มูลค่ารถที่ขับ ฯลฯ แบบกลวงๆซึ่งใช้ความชอบใจของตัวเองเป็น Benchmark ทำให้ไม่สามารถสรุปออกมาเป็นค่ามาตรฐานได้ แต่เชื่อกันว่ายิ่งมากยิ่งดี โดยไม่สนใจว่าไอ้ตัวเลขพวกนั้นมีที่มาจากไหน และตัวเลขเหล่านั้นสามารถ indicate สิ่งที่เราต้องการได้จริงๆ รึเปล่า

เพราะ

การที่เงินเดือนสูง ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะรวย ถ้าสัดส่วนหนี้สูงกว่าทุน หนี้เยอะสินทรัพย์ก็ติดลบ เงินเดือนต่อให้มีมากแค่ไหน ก็แค่ผ่านจากกระเป๋าไปให้เจ้าหนี้ อย่างนี้คงจะบอกว่ารวยไม่ได้ (หลักบัญชี การเงินธรรมดาเลยนะ ไม่ได้ใช้ความรู้วิจิตรพิสดารอะไร)

เงินเดือนเยอะ แต่ have no life ขนาดเวลาพักผ่อนยังไม่มี แล้วจะเอาเวลาจากไหนมาดูแลคุณผู้หญิงผู้บูชาผู้ช่ายเงินเดือนเยอะ ไม่นับเรื่องสุขภาพที่ทรุดโทรมไว ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอีก คุณอยากจะแต่งงานกับคนป่วยและไม่มีเวลาให้คุณรึเปล่าล่ะ

เกรดเฉลี่ยสูง แต่ความรู้ในสิ่งที่เรียนมาถูก delete ทันทีที่เดินออกจากห้องสอบ จบมาตอบไม่ได้ว่าสี่ปีในมหาลัยเรียนอะไรไปบ้าง พอเข้าสู่ working life ก็ทำงานไม่เป็น ไม่สามารถหาความเชื่อมโยงระหว่างวิช่าการที่เรียนไปกับงานที่ทำ หรือปรากฎการณ์ทางสังคมต่างๆ ไม่มีการคิดอย่างเป็นระบบและตรรกะ คุณคิดว่าคนพวกนั้นแท้จริงแล้วเขาฉลาดรึเปล่า เขาเก่งรึเปล่า

ทั้งๆ ที่สามารถตั้งข้อโต้แย้งได้มากมายว่าตัวเลขเหล่านั้นมีความน่ากังขาว่าสามารถวัดสิ่งที่เราต้องการได้หรือไม่ (ดังที่ได้แย้งไว้แล้วในบรรทัดบน) แต่คนกลุ่มใหญ่ในสังคมก็ยังเลือกที่จะตัดสินคนอื่นจากตัวเลขเหล่านี้ต่อไป โดยหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงผลลัพธ์ของการกระทำที่สังคมตีค่าว่า “ดี” เช่นความสามารถในการหาเงิน productivity of labor ฯลฯ ซึ่งในทางวิชาการเชื่อว่าถ้า indicator มันผิด ผลที่ได้ก็ผิด แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะเชื่อและยึดติดอยู่กับตัวเลขดังกล่าว

บางทีก็รู้สึกนะว่าสังคมนี้มันย้อนแย้งคือ เรามักจะได้ยินวาทกรรมบางอย่างในสังคมว่า คนดีแต่ไม่มีเงินก็แต่งกันได้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าคนดีคนนั้นเงินเดือนไม่ถึงห้าหมื่น (ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติของผู้ชายที่ทำงานมาราวๆ 10 ปี เว้นแต่จะทำงานเฉพาะด้านที่มีความเสี่ยง และภาระงานหนักกว่าปกติ อย่างวิศวกรบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน) หรืออย่างการศึกษาไทยมันล้มเหลว มัน dysfunctional จบมาไม่มีความรู้ ไอ้ที่เรียนมาใช้กับการทำงานไม่ได้ (ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวาทะที่ว่าความรู้ในห้องเรียนใช้กับการทำงานไม่ได้ มันใช้ได้ถ้าใส่ใจจะรู้มันจริงๆ เพราะวิชาการเป็นพื้นฐานของการประยุกต์) เกรดมันวัดอะไรไม่ได้ แต่ HR ก็ยังคงเอาเกรดเฉลี่ยมาใช้เป็นเกณฑ์ในการรับคนเข้าทำงานโดยให้เหตุผลว่าก็เพราะมันไม่วิธีอืนที่มาใช้คัดคน (ไม่มีหรือขี้เกียจคิดวิธีที่เหมาะสมมาใช้ในการรับคนเข้าทำงานกันแน่)

……………………………

มันน่าเศร้านะที่เราให้ความสำคัญกับตัวเลขอะไรบางอย่าง แต่เราไม่เคยสนใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้นเลย ทั้งๆ ที่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังมันสำคัญกว่าตัวเลขกลวงๆ บ้าๆ พวกนั้นด้วยซ้ำ แถมยังไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าตัวเลขเหล่านั้นเป็นตัวบ่งชี้ที่ดี

อาจจะเป็น เราถึงตัดสินใครจากตัวเลขฉาบฉวยพวกนี้ตลอดเวลา

ตลอดเวลาจนน่าหงุดหงิด….

2 thoughts on “สังคมนิยมตัวเลข

  1. น่าหาดูว่ามีวิธีการสัมภาษณ์งานโดยไม่ดูเกรดแบบใดบ้าง และ ทำไงให้เป็นมาตรฐานใหม่ ที่เป็นที่นิยม

Leave a comment